อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่ ตำบลเขาจ้าง อำเภอปราณบุรี ตำบลศิลาลัย ตำบลศาลาลัย ตำบลไร่เก่า ตำบลไร่ใหม่ กิ่งอำเภอสามร้อยยอด อำเภอปราณบุรี ตำบลหาดขาม ตำบลสามกระทาย ตำบลกุยบุรี และตำบลบ่อนออก ตำบลอ่าวน้อย ตำบลเกาะหลัก ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ที่สวยงาม เพื่อให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม มิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา และ รื่นรมย์ของประชาชน มีเนื้อที่ประมาณ 969 ตารางกิโลเมตร หรือ 605,625 ไร่ ได้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2542
ความเป็นมา : จากสถานการณ์ป่าไม้ในปัจจุบันพบว่า พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายจนน่าวิตกว่าจะมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะรักษาสภาพสมดุลธรรมชาติเอาไว้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดกรณีอันน่าสลด หากไม่เร่งดำเนินการรักษาสภาพธรรมชาติเอาไว้ ดังนั้น กรมป่าไม้จึงมีคำสั่ง ที่ 475/2532 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2532 ให้ นายจุมพล เจริญสุขพาณิชย์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 กองอุทยานแห่งชาติไปดำเนินการสำรวจเบื้องต้นที่ป่าบริเวณวนอุทยานปราณบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองเก่า-คลองคอย และกรมป่าไม้มีคำสั่ง ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้นายสรรเพชร ราคา เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยให้ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ พลองทะลายเขา เขล็ง กระชิด พลวง สมอ ตะเคียนหิน มะไฟป่า พืชตระกูลปาล์มชนิดต่าง ๆ เช่น หมากเขียว หวายชนิดต่าง ๆ เตาร้าง โดยเฉพาะหวายมีเป็นจำนวนมาก พืชชั้นล่างหลายชนิด เช่น พวกวงศ์ขิง ข่า เฟิร์น บอน เป็นต้น
สำหรับสัตว์ป่ายังมีชุกชุม เนื่องจากมีแหล่งน้ำและอาหารสมบูรณ์ สัตว์ป่าทั่วไป ได้แก่ ช้าง กระทิง วัวแดง กวางป่า หมี เก้ง สมเสร็จ ชะนี ลิง ค่างชนิดต่าง ๆ เลียงผา กระจง หมูป่า กระต่ายป่า ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีนกชนิดต่าง ๆ เช่น นกเงือก นกการัง ไก่ป่า นกระวังไพร นกกางเขนดง นกเขา นกกระยางกรอก นกกระยางแดง และยังมีสัตว์เลื้อยคลานได้แก่ พวกเต่า ตะพาบน้ำ และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ได้แก่ กบฑูต คางคก เขียด และปลาชนิดต่าง ๆ
ชมช้างป่า ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี (คู่หูเดินทาง)
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี นับเป็นอุทยานแห่งชาติครั้งที่ 90 ของประเทศ มีอาณาเขตครอบคลุม 4 อำเภอ คือ อำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี และอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ โดยเฉพาะกับ "ช้าง" ที่มักลงมาหาอาหารกินที่เชิงป่าชายเขาท้องที่บ้านรวมไทย ซึ่งวันนี้เราจะพาไปชม "ช้างป่า" และ "กระทิง" ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี กัน
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี หรือที่รู้จักกันดีในนาม "ป่าซาฟารีเมืองไทย" ด้วยเพราะผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้มีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ "ช้างป่า" ที่อยู่กันอย่างชุกชุม และเหล่าฝูงวัวกระทิง ที่จะออกมาหาอาหารกินในช่วงเย็น ช่วงเวลาที่ดีที่สุดก็ประมาณ 15.00 – 18.00 น. และต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ในการนำทาง หากไม่ได้ขับรถกระบะมา ก็มีบริการพาเที่ยวด้วยรถยนต์ของชาวบ้านผู้ชำนาญพื้นที่ ครั้งละประมาณ 700 บาท
ระหว่างทางที่ขับเข้าไปจะเห็นขี้ช้างอยู่เต็มถนนไปหมด แต่ก็ยังไม่เจอตัวช้างสักที แต่พอมาถึงยังจุดของอุทยานฯ ด้านใน บริเวณนี้มีบริการบ้านพัก 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำให้สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากใกล้ชิดกับช้างแบบสุด ๆ ด้านข้างจะมีหนองน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกกับเราว่า จุดนี้ช้างจะต้องลงมากินน้ำหรือเล่นน้ำบ้างในช่วงเย็น และต้องใช้ความความเงียบสงบในการดู เพราะช้างป่าเป็นสัตว์ที่ขี้ระแวงตกใจง่าย โชคดีมากเพราะเรารอเพียงไม่นาน ก็เห็นช้างป่าขนาดกลางตัวหนึ่งลงมาเล่นน้ำ ตื่นเต้นกว่าที่คิดเอาไว้เสียอีก
การเดินทางมาที่นี่หาไม่ยาก โดยใช้ถนนเพชรเกษมขับมุ่งหน้าลงใต้มายังอำเภอกุยบุรี ก่อนทางเข้าจะมีช้างปูนโขลงใหญ่ยืนเกาะกลุ่มเชิญชวนให้ไปเที่ยวกัน ก็เลี้ยวขวาเข้าไป ขับไปตามป้าย ชมช้างป่ากุยบุรี/บ้านรวมไทย มีป้ายบอกตลอดเส้นทางประมาณ 15 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-3264-6292
แหล่งที่มา http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style2/default.asp?npid=117&lg=1
http://travel.kapook.com/view30510.html